1737 Views |
การพิจารณาปัจจัยของหลังคา ในเตรียมตัวก่อนติดตั้ง solar rooftop ควรพิจารณาอะไรบ้าง
1. ประเภทของหลังคา
โดยทั่วไปมีหลักๆอยู่3ประเภท คือ หลังคากระเบื้อง (Tile Rooftop) หลังคา Metal sheet (Tin Rooftop) และ ดาดฟ้า (Flat Rooftop) แต่ละประเภทสามารถติด Solar Rooftop ได้ทั้ง 3 ประเภท แต่จะแตกต่างกันเพียงชนิดของ Solar Mounting ที่ใช้ยึดติดกับหลังคา ซึ่งแต่ละประเภทจะมีรูปแบบและมีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกัน
2. ทิศทางของหลังคา
ทิศทางในการวางแผงโซลาร์ก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ แม้ว่าเราจะสามารถติดตั้งในทิศไหนก็ได้ แต่ทิศทางนั้นส่งผลต่อ Energy yield (การผลิตพลังงานของแผงโซลาร์เซลล์) ของ solar จึงควรพิจารณาทิศในการวางแผนด้วย โดยทิศที่เหมาะสมกับการติดตั้ง Solar Rooftop ในไทยมากที่สุด คือทิศใต้และหันแผงทำมุม 15 องศา เนื่องจากพระอาทิตย์วิ่งอ้อมใต้จากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตก ทำให้ทิศนี้ได้รับแสงอาทิตย์ได้ดีที่สุด ทิศที่รับแสงได้ดีรองลงมาคือทิศตะวันตกและตะวันออก และสุดท้าย ทิศเหนือ เป็นทิศที่ควรหลีกเลี่ยงในการติดตั้งงานหลังคา Solar มากที่สุด
3. โครงสร้างของหลังคา
การพิจารณาโครงสร้างของหลังคาจะเป็นหน้าที่ของวิศวกรเป็นผู้ตรวจสอบและวิเคราะห์ว่าโครงสร้างแบบนี้สามารถรองรับน้ำหนักของโซลาร์ที่จะติดตั้งได้หรือไม่ซึ่งต้องวิเคราะห์จากแบบหลังคาของอาคารและสภาพหน้างานจริง ทั้งประเภทของแป ขนาดของแป ระยะแป ประเภทของหลังคา เพื่อนำมาคำนวณความแข็งแรงของโครงสร้าง ซึ่งโดยปกติแล้ว แผงโซลาร์และ mounting จะมีน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 20 กิโลกรัมต่อตารางเมตร
นอกจากนี้ ต้องพิจารณาสภาพของหลังคาเพิ่มเติมด้วย ว่าหลังคามีการชำรุดหรือ ต้องมีการเปลี่ยนหลังคาหรือไม่ เนื่องจากการใช้โซลาร์นั้น มีอายุประมาณ 25-30ปี การเกิดปัญหาหลังจากติดตั้งไปแล้วก่อให้การคืนทุนที่ล่าช้าหรือ ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่ออุปกรณ์ที่ติดตั้งบนหลังคาได้
โดยการพิจารณาการเปลี่ยนหลังคามีด้วยกัน4แบบคือ
3.1. เปลี่ยนหลังคาเฉพาะจุดที่เสียหาย วิธีนี้เหมาะสำหรับหลังคาที่มีอายุการใช้งานไม่นาน แต่อาจจะมีบางจุดเท่านั้นที่ได้รับความเสียหาย ก็สามารถเปลี่ยนหลังคาแผ่นใหม่แทนของเก่าได้
3.2. เปลี่ยนประเภทของหลังคา วิธีนี้เหมาะกับหลังคาโรงงานที่เป็น metal sheet แบบ Bolt System ที่อาจจะกังวลการรั่วซึมเมื่อต้องการติดตั้งระบบโซล่า เนื่องจากPV Mounting ประเภทนี้เป็นแบบ Penetration Type ก็ให้เปลี่ยนเป็น metal sheet แบบ Boltless System แทน โดย PV Mounting ที่ใช้จะเป็นแบบ Non-Penetration Type หรือ Klip-lok ซึ่งจะเป็นการยึดกับลอนของ metal sheet เท่านั้น ไม่มีการรั่วซึมของหลังคาแน่นอน
3.3. เสริมโครงสร้างของหลังคา เมื่อวิศวกรพิจารณาแล้วว่าตัวโครงสร้างไม่สามารถรับน้ำหนักของระบบโซล่าได้ จึงต้องทำการเสริมโครงสร้างเท่านั้น ซึ่งในบางกรณี เมื่อเปลี่ยนแป อาจจะต้องเปลี่ยนวัสดุที่หลังคาด้วย
3.4. ทำหลังคาแบบ Double Roof วิธีนี้เหมาะกับหลังคาทุกประเภท โดยนำแผ่น metal sheet ที่มีน้ำหนักเบา ปูทับลงบนแผ่น metal sheet เดิม จะไม่แตกต่างกับการทำหลังคาใหม่ ไม่ต้องใช้เวลาและค่าใช้จ่ายเท่ากับการรื้อหลังคาเก่าออกแล้วทำหลังคาใหม่
4. สิ่งกีดขวางบนหลังคา
สิ่งกีดขวางบนหลังคา เช่น เสาล่อฟ้า ลูกหมุนระบายอากาศ และ สิ่งกีดขวางนอกหลังคา เช่น ต้นไม้สูง อาคารโดยรอบที่มีความสูงกว่าอาคารที่ติดตั้งระบบโซลาร์ สิ่งเหล่านี้จะก่อให้เกิดเงา ซึ่งจะส่งผลต่อ Energy yield ของ solar ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตไฟไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้นควรติดตั้งแผงในพื้นที่ที่ไม่มีเงา